2. การค้าระหว่างประเทศ

เหตุผลจากการเกิดขึ้นของการค้าระหว่างประเทศ ไม่ได้แตกต่างจากเหตุผลของการค้าระหว่างบุคคล กล่าวคือ การค้าระหว่างบุคคลเกิดขึ้นจากการแบ่งงานกันทำ โดยยึดความชำนาญที่แตกต่างกัน จะนำไปสู่มาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ในทำนองเดียวกันการค้าระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจากเหตุผลอย่างเดียวกัน กล่าวคือการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเนื่องจากประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าได้ด้วยต้นทุนที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีทรัพยากร และความชำนาญในการผลิตไม่เหมือนกัน ประเทศที่มีทรัพยากรมากก็มักจะได้เปรียบในการผลิตสินค้า ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรนั้นๆ อย่างไรก็ตามความมากน้อยของทรัพยากรการผลิตที่อยู่ก็มิใช่สิ่งที่กำหนดต้นทุน และความได้เปรียบในการผลิตเสมอไป ประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิตก็เป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไปการค้าระหว่างประเทศจะอยู่ในลักษณะที่ว่าแต่ละประเทศจะผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัดซึ่งเป็นสินค้าส่งออก ขณะเดียวกันก็จะสั่งเข้าของสินค้าที่ตนเองผลิตไม่ได้ หรือผลิตได้แต่ต้นทุนสูงกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเปรียบเสมือนการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศนั่นเอง ทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด การค้าระหว่างประเทศจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ประชาชนต่างๆทั่วโลกมีมาตรฐานการครองชีพโดยเฉลี่ยสูงขึ้น

ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ

ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศมุ่งอธิบายว่าเหตุใดจึงมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศต่างๆ และเมื่อมีการซื้อขายกันแล้ว ราคาและปริมาณสินค้าที่ซื้อขายกันจะสูงต่ำและมากน้อยประการใด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. ลัทธิพาณิชย์นิยม

ลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ได้รับความนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่18 จากประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เชื่อว่าวิธีเดียวที่ชาติจะมีความร่ำรวยและมีอำนาจยิ่งใหญ่ คือ การส่งออกมากกว่าการนำเข้า ซึ่งจะทำให้มีโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ เข้ามา ยิ่งประเทศใดมีทองคำมากขึ้นเท่าไร ก็จะร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้นดังนั้น นักพาณิชย์นิยมจึงสนับสนุนให้รัฐเร่งการส่งออกและควบคุมการนำเข้า อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณทองคำที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นเมื่อประเทศหนึ่งได้ประโยชน์ก็ย่อมหมายความว่าอีกประเทศหนึ่งเสียประโยชน์นั้นไป

2. ทฤษฎีการได้เปรียบโดยสมบูรณ์

ทฤษฎีการได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Absolute Advantage) เป็นทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศยุคแรกๆ โดย Adam Smith ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อดัง The Wealth of Nations (1976) เป็นการสนับสนุนการค้าเสรีว่าเป็นนโยบายที่ดีเยี่ยมสำหรับทุกประเทศในโลก เมื่อการค้าเป็นไปอย่างเสรี แต่ละประเทศก็จะทำการผลิตด้วยความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะสินค้าที่ประเทศมีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ ( ถ้าประเทศนั้นสามารถผลิตสินค้าชนิดหนึ่งได้มากกว่าอีกประเทศหนึ่งด้วยปัจจัยการผลิตจำนวนที่เท่ากัน) และนำเข้าสินค้าที่มีความเสียเปรียบโดยสมบูรณ์ ดังนั้น การค้าระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้นจากการที่ต่างฝ่ายได้เปรียบโดยเด็ดขาดจากการผลิตสินค้าคนละชนิดแล้วมาแลกเปลี่ยนกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา สมมติว่าในการผลิตสินค้าทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็ผลิตสินค้า 2 อย่างเหมือนกัน คือ ข้าวและคอมพิวเตอร์ และสมมติว่าในการผลิตสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตเพียงอย่างเดียว ดังนั้นมูลค่าของสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงคิดจากจำนวนแรงงานที่ใช้ไปในการผลิต ดังตารางที่ 1.1

ตารางที่ 1.1 แสดงมูลค่าของสินค้าทั้ง 2 ชนิด ซึ่งคิดจากจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิต

สินค้า

ผลผลิตของแรงงาน 1 วัน

 

ไทย

สหรัฐอเมริกา

ข้าว (เกวียน)

คอมพิวเตอร์ (เครื่อง)

15

5

2

20

ตารางที่ 1.1 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์เหนือกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาในการผลิตข้าว ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์กว่าไทยในการผลิตคอมพิวเตอร์ ถ้าไทยมุ่งผลิตข้าวเป็นพิเศษ และสหรัฐฯ มุ่งผลิตคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ ผลผลิตรวมของข้าวและคอมพิวเตอร์ในแต่ละประเทศจะเพิ่มขึ้น และทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างก็ได้รับส่วนแบ่งจากปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นจากการค้าขายระหว่างกัน

3. ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ

David Ricardo กล่าวว่าประเทศที่ไม่มีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ในการผลิตสินค้าทุกๆอย่างกับประเทศอื่น ยังคงสามารถทำการค้าที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้ ประเทศที่ด้อยประสิทธิภาพควรผลิตและส่งออกเฉพาะสินค้าที่ประเทศตนมีความเสียเปรียบโดยสมบูรณ์น้อยกว่า ถือได้ว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ประเทศผลิตด้วยความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และใช้อธิบายสาเหตุของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจนทุกวันนี้

ตารางที่ 1.2 แสดงมูลค่าของสินค้าทั้ง 2 ชนิด ซึ่งคิดจากจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิต

สินค้า

ผลผลิตของแรงงาน 1 วัน

 

ไทย

สหรัฐอเมริกา

ข้าว (เกวียน)

คอมพิวเตอร์ (เครื่อง)

15

5

40

20

จากตารางที่ 1.2 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความเสียเปรียบโดยสมบูรณ์เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ในการผลิตข้าวและคอมพิวเตอร์ แต่การผลิตข้าวเสียเปรียบน้อยกว่า ด้วยเหตุนี้ไทยจึงมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในการผลิตข้าวและเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบในการผลิตคอมพิวเตอร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ที่มีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ในการผลิตสินค้าทั้งสองชนิด แต่ความได้เปรียบในการผลิตคอมพิวเตอร์ ( 20 ต่อ 5 ) มากกว่าในการผลิตข้าว ( 40 ต่อ 15 ) ดังนั้น สหรัฐฯ จึงมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในการผลิตคอมพิวเตอร์ การค้าเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจึงควรอยู่ในลักษณะที่ไทยขายข้าวให้แก่สหรัฐฯ และซื้อคอมพิวเตอร์จากสหรัฐฯ นั่นเอง

4. ทฤษฎีต้นทุนค่าเสียโอกาส

ทฤษฎีต้นทุนค่าเสียโอกาส กล่าวว่าต้นทุนของสินค้าหนึ่งเท่ากับจำนวนของสินค้าชนิดที่สองที่ต้องเสียสละไปเพื่อให้ได้รับปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรที่เพียงพอที่จะผลิตสินค้าชนิดแรกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย ทั้งนี้แรงงานไม่ใช่ปัจจัยการผลิตเพียงอย่างเดียวที่นำมาใช้ในการผลิต ดังนั้น ต้นทุนของสินค้าจึงเกิดขึ้นจากจำนวนปัจจัยการผลิตทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้น ประเทศที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสสำหรับสินค้าหนึ่งต่ำกว่าถือว่ามีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในสินค้านั้น และความเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบในสินค้าอื่น

จากตัวอย่าง 1.2 ข้างต้นถ้าจะผลิตข้าวเพื่มขึ้นอีกหนึ่งเกวียน ไทยต้องเสียสละคอมพิวเตอร์ 1/3 เครื่อง ( เพื่อที่จะปล่อยทรัพยากรให้เพียงพอที่จะผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเกวียน ) ต้นทุนค้าเสียโอกาสของข้าวในไทยคือ คอมพิวเตอร์ 1/3 เครื่อง ถ้าในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ถ้าปราศจากการค้า ต้องเสียสละคอมพิวเตอร์ ? เครื่องเพื่อผลิตข้าวเพิ่มอีก 1 เกวียน ต้นทุนค่าเสียโอกาสของข้าวคือ คอมพิวเตอร์ ? เครื่องในสหรัฐฯ และเพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสของข้าวในไทยต่ำกว่าในสหรัฐฯ ไทยจึงมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบเหนือกว่าสหรัฐฯในการผลิตข้าว และสหรัฐฯมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในคอมพิวเตอร์

ต้นทุนค่าเสียโอกาสสามารถอธิบายได้โดยเส้นความเป็นไปได้ในการผลิต ( Transformation Curve ) ที่แสดงส่วนผสมต่างๆ ของทางเลือกอื่นทั้งหมด สำหรับสินค้าสองชนิดที่ประเทศหนึ่งสามารถผลิตโดยการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีเต็มที่ ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ดังนั้น ความชันของเส้นความเป็นไปได้ในการผลิต จึงหมายถึงอัตราเปลี่ยนแปลงของการแปรรูป ( Marginal Rate of Transformation ) ถ้าประเทศนั้นเผชิญกับต้นทุนคงที่ เส้นความเป็นไปได้ในการผลิตก็จะเป็นเส้นตรงที่มีความชันเท่ากับต้นทุนค่าเสียโอกาสคงที่ และต่อราคาสินค้าเปรียบเทียบในประเทศนั้น

5. ทฤษฎี Heckscher-Ohlin

ทฤษฎี Heckscher-Ohlin (H-O) เน้นในเรื่องความแตกต่างกันของปัจจัยการผลิตเริ่มต้น (Factor Endownments) ที่แต่ละประเทศมีอยู่ และราคาปัจจัยการผลิต (Factor Prices) ระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดของการค้า (โดยมีสมมติฐานว่าเทคโนโลยีและรสนิยมเหมือนกัน) ตามทฤษฏีนี้ แต่ละประเทศจะส่งออกสินค้าเน้นไปที่ปัจจัยการผลิตที่มีมากโดยเปรียบเทียบซึ่งทำให้ปัจจัยการผลิตนั้นมีราคาถูก และนำเข้าสินค้าเน้นไปที่ปัจจัยการผลิตที่หายากโดยเปรียบเทียบซึ่งปัจจัยการผลิตดังกล่าวจะมีราคาแพง

6. ทฤษฎี Leontief Paradox

ทฤษฎี Leontief Paradox เป็นการทดสอบเชิงประจักษ์ของทฤษฎี H-O ทำโดย Leontief ในปี ค.ศ. 1951 โดยใช้ข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1947 จึงได้พบว่าสหรัฐฯมีการทดแทนการนำเข้าประมาณร้อยละ 30 เป็นสินค้าที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้นมากกว่าการที่สหรัฐฯส่งออก แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีปัจจัยทุนมากที่สุดก็ตาม ผลนี้จึงตรงกันข้ามกับทฤษฎี H-O

7. ทฤษฎีวัฏจักรสินค้า

ทฤษฎีวัฏจักสินค้า (Product Life Cycle) เป็นทฤษฎีที่ไม่ได้นำปัจจัยการผลิดมาประกอบการพิจารณาทฤษฎีนี้มีข้อสมมติฐาน 3 ข้อ คือ ประการแรก ความต้องการสินค้าภายในประเทศที่นำเข้ามีมากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการผลิตได้ ประการที่สอง ในการผลิตสินค้าใหม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในราคาต่ำพอที่นะทำให้ประเทศผู้ซื้อผลิตสินค้าแข่งขันในตลาดได้ ประการสุดท้าย การผลิตมีการประหยัดต่อขนาดโดยไม่ต้องพิจารณาว่าจะใช้แรงงานไร้ฝีมือหรือแรงงานมีฝีมือเพียงใด

อาร์ เอ เวอร์นอน (R.A. Vernon) ได้ศึกษาถึงทิศทางการค้าของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่า ประเทศที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตสินค้าหรือค้นพบสินค้าใหม่จะเป็นผู้ผลิตเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ และยังเป็นผู้ส่งออกส่วนที่เหลือเพื่อให้การผลิตเกิดการประหยัดต่อขนาด และเมื่อการผลิตผ่านเข้าสู่จุดอิ่มตัว เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการในการผลิตสินค้าดังกล่าวก็จะถูกถ่ายทอดไปสู่ประเทศที่เคยทำการนำเข้า ประเทศที่เคยนำเข้าก็จะเริ่มมีการผลิตเป็นลักษณะของการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า จำถึงจุดหนึ่งที่การผลิตจากประเทศที่เคยนำเข้าเกิดการเรียนรู้และมีประสบการณ์ในการผลิตมากขึ้น ก็จะทำการส่งออกสินค้าดังกล่าว และเปลี่ยนนโยบายจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นประเทศที่เคยส่งออกเดิมอาจจะกลับมาเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวแทน เพราะสูญเสียความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบไป

มาตรการการค้า: พิกัดอัตราภาษีศุลกากรและนโยบายอื่นๆ

มาตรการควบคุมกระแสการค้าและการค้าระหว่างประเทศ

ถึงแม้ว่าเราจะยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ดี แต่จะพบว่าประเทศหนึ่งๆ สามารถพยายามเพิ่มสวัสดิการของประเทศบนความสูญเสียของประเทศอื่นโดยการจำกัดการค้า มาตรการการค้าสามารถจำแนกออกเป็นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและที่ไม่ใช่อัตราภาษีศุลกากร พิกัดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าเก็บตามมูลค้า เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่แสดงในรูปร้อยละของมูลค่าสินค้านำเข้า มักใช้เป็นวิถีทางหนึ่งในการจำกัดปริมาณสินค้านำเข้า โควต้าการนำเข้า เป็นมาตรการทางตรงที่จำกัดปริมาณการนำเข้าของสินค้าชนิดหนึ่งและมีผลหลายอย่างเช่นเดี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากร อย่างไรก็ตาม พิกัดอัตราภาษีศุลกากรโดยทั่วไปลดลงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม กระนั้น จำนวนและความสำคัญของมาตการที่ไม่ใช่พิกัดอัตราภาษีศุลกากรซึ่งเป็นการคุ้มครองการค้าแนวใหม่ในรูปของการจำกัดการส่งออกโดยสมัครใจ ข้อบังคับทางเทคนิดการบริหาร และข้อบังคับอื่นไ เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา การค้าทางสินค้าเกษตรกรรมก็ถูกใช้ มาตการทางการค้าในเชิงปริมาณโดยตรงหลายประการรวมทั้งอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่พิกัดอัตราภาษ๊ศุลกาการอื่นๆ อีก

การคุ้มครองการค้าถูกนำมาใช้โดยอ้างเหตุผลเพื่อ

1. ปกป้องแรงงานภายในประเทศจากแรงงานราคาถูกจากต่างประเทศ
2. ทำราคาสินค้านำเข้าให้เท่ากับราคาสินค้าของการผลิตภายในประเทศ เพื่อ ให้ผู้ผลิตภายในประเทศสามารถแข่งข้นกับคู่แข่งจากต่างประเทศ
3. ลดการว่างงานภายในประเทศ (โดยการผลิตภายในประเทศ สำหรับสินค้าที่เคยนำเข้า)
4. แก้ปัญหาการขาดดุลการชำระเงินภายในประเทศ (ขจัดส่วนเกินของรายจ่ายในต่างประเทศที่เกินจากรายรับจากต่างประเทศของประเทศ)
5. อัตราแลกเปลี่ยนการค้าและสวัสดิการของประเทศดีขึ้น
6. ปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศจากการทุ่มตลาด
7. เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมภายในประเทศตั้งตัวและเจริญเติบโตจนกระทั่งมีประสิทธิภาพ
8. รับประโยชน์จากอำนาจผู้ผลิตน้อยรายและการประหยัดภายนอก
9. ปกป้องอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำค้ญสำหรับการป้องกันประเทศ

อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายกีดกันการค้ามิได้ให้ผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างข้างต้นเสมอไป เพราะ

1. ปริมาณสินค้าเข้าของประเทศที่ใช้นโยบายกีดกันการนำเข้า (ประเทศที่ 1) ลดลง และปริมาณสินค้าออกของประเทศที่จะส่งสินค้าออก (ประเทศที่ 2) ไปขายยังตลาดประเทศดังกล่าวก็ลดลง ฉะนั้น อำนาจในการซื้อ (สินค้าออกของประเทศที่ 1) ของประเทศที่ 2 จะลดลง
2. อาจจะได้รับการกระทำตอบโต้เช่นกัน จะมีผลให้สินค้าออกของประเทศที่ 1 ลดลง
3. การกระตุ้นการจ้างงานให้เพิ่มขึ้น โดยภาษีนี้จะเป็นผลในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวอาจไม่เปลี่ยนแปลงเลยหรืออาจลดลงก็ได้
4. ผลที่เกิดขึ้นจากภาษีไม่ใช่มีแต่ทางด้านผู้ผลิตเท่านั้น แต่มีผลต่อผู้บริโภคด้วย

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หมายถึง การสร้างเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) สหภาพศุลกากร (Customs Union) ตลาดร่วม(Common Market) หรือสหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Union) ระหว่างประเทศต่างๆ ในเขตการค้าเสรี พิกัดอัตราภาษีศุลกากรทั้งหมดถูกขจัดในการค้าระหว่างประเทศสมาชิก แต่แต่ละประเทศยังคงรักษาอัตราภาษีศุลกากรของตนเองต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก สหภาพศุลกากร ก็เช่นเดียวกับเขตการค้าเสรี เว้นแต่ใช้อัตราภาษีศุลกากรเดียวกันกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ตลาดร่วมนั้นนอกเหนือจากมีลักษณะเช่นเดียวกับสหภาพศุลกากรแล้วยังอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยแรงงานและปัจจัยทุนโดยเสรีระหว่างประเทศสมาชิก สหภาพทางเศรษฐกิจมีพัฒนาการไกลกว่าโดยการประสานการเงิน การคลัง และนโยบายภาษีของประเทศสมาชิก

เมื่อพิจารณาผลกระทบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะของสหภาพศุลกากรต่อสวัสดิการของกลุ่มด้านการสร้างการค้าและการหันเหการค้า พบว่า ส่งผลต่อการสร้างการค้าเมื่อการผลิตภายในประเทศถูกแทนที่โดยการนำเข้าจากผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าภายในกลุ่มพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นการเพิ่มสวัสดิการ ส่วนการหันเหการค้ามีผลเมื่อการนำเข้าจากผู้จำหน่ายที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากภายนอกกลุ่มถูกทดแทนโดยผู้จำหน่ายที่มีต้นทุนสูงกว่าจากภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นการลดสวัสดิการลง นอกจากนี้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบถึงการแข่งขันที่อาจสูงขึ้น การประหยัดต่อขนาด และระดับการลงทุนที่มีสูงขึ้น

นโยบายการค้าในปัจจุบันพยายามที่จะเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มต่างๆ ให้มาทำการค้ากัน เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะขยายขอบเขตและปริมาณการค้าระหว่างประเทศ จัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของโลกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อให้มาตรฐานการครองชีพของโลกดีขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการค้าในปัจจุบันยังพยายามที่จะเชื่อมโยงประเทศต่างๆ หรือบางประเทศให้เข้าร่วมมือกันเป็นกลุ่มเดียวกันทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายในแนวทางเดียวกัน การรวมกลุ่มดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคดังกล่าวข้างต้น เช่น กลุ่ม EU, NAFTA, AFTA หรือกลุ่มความร่วมมือในระดับโลก เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) อันเป็นเป้าหมายของนโยบายการค้าเสรีซึ่งสนับสนุนให้มีเสรีภาพทางการค้ามากขึ้น