บทที่ 3 (b)

เอกสารการค้าระหว่างประเทศและเอกสารการเงิน


เอกสารที่ใช้ประกอบทางการค้าระหว่างประเทศ (Commercial Documents) ที่ผู้ซื้อ (Importer) และผู้ขาย (Exporter) ระบุไว้ในสัญญาการสั่งซื้อสินค้าเข้าหรือการส่งสินค้าออก ที่พบเห็นทั่วไป มีดังนี้

1. Draft / Bill of Exchange : ดร๊าฟ หรือตั๋วแลกเงิน

2. Invoice : บัญชีราคาสินค้า หรือใบกำกับราคาสินค้า

3. Bill of Lading : ใบตราส่งสินค้า

4. Air Waybill : ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ

5. Parcel Post Receipt : ใบพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์

6. Rail Way Bill : ใบตราส่งทางรถไฟ

7. Insurance Policy : กรมธรรม์ประกันภัย

8. Insurance Certificate : ใบรับรองการประกันภัย

9. Certificate of Origin : ใบรับรองต้นกำเนิดสินค้า

10. Certificate of Inspection : ใบสำคัญแสดงการตรวจสินค้า

11. Certificate of Analysis : ใบสำคัญแสดงการวิเคราะห์

12. Health Certificate : ใบสำคัญแสดงความสมบูรณ์ของสินค้า

13. Beneficiary’s Certificate : ใบรับรองผู้ขาย

14. Packing & Weight List : ใบแสดงการบรรจุหีบห่อ และใบแสดงรายการน้ำหนักสินค้า

15. Weight Certificate : ใบรับรองแสดงน้ำหนักสินค้า

ตั๋วฉบับหนึ่งๆ นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องประกอบด้วยเอกสารทุกชนิด ซึ่งแล้วแต่การเรียกร้องต้องการของผู้สั่งซื้อสินค้า (Importer) ตามความตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

Draft or Bill of Exchange : ดร๊าฟหรือตั๋วแลกเงิน ที่ใช้กันอยู่แพร่หลายมี 3 อย่าง คือ

1. ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ? เป็นตราสารที่ผู้ออกตราสาร (ผู้ออกตั๋ว) สั่งให้บุคคลหนึ่ง
(ผู้จ่ายเงินตามตั๋ว) จ่ายเงินให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่ง (ผู้รับเงินตามตั๋ว)

2. ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) ? เป็นตราสารที่ผู้ออกตั๋วให้สัญญาว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้รับเงิน) ตามคำสั่งเมื่อถึงกำหนดเวลา

3. เช็ค (Check) ? เป็นตราสารที่บุคคลผู้ออก (ผู้สั่งจ่าย) สั่งธนาคาร (ที่ตนมีบัญชีอยู่) ให้จ่ายเงินจำนวนตามที่ระบุแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้รับเงิน)

ชนิดของตั๋วแลกเงิน : แบ่งตามลักษณะของตั๋ว คือ

1. Bank Bills (Banker’s Draft) ? เป็นดร๊าฟที่ธนาคารออกสั่งให้ธนาคารอีกแห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ถูกระบุชื่อในดร๊าฟ ซึ่งเป็นลักษณะที่ Drawer (ผู้สั่งจ่าย) และ Drawee (ผู้จ่าย) เป็นธนาคาร

2. Trade Bills (Time Bills or House Bills) ? เป็นตั๋วที่ใช้ในระหว่างพ่อค้าเพื่อเรียกเก็บเงินจากพ่อค้าด้วยกัน โดยมากใช้ในระหว่างบริษัทที่มีสาขาอยู่ในต่างประเทศ เป็นผู้ออกใช้กันเองระหว่างสาขา และสำนักงานใหญ่ของตน

 

3. Commercial Bill ? เป็นตั๋วที่พ่อค้าเป็นผู้สั่งจ่าย (Drawer) และธนาคารเป็นผู้จ่ายเงิน (Drawee)ตั๋วชนิดนี้ใช้เกี่ยวกับการเปิด L/C ซึ่ง Commercial Bill สามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ

3.1 Clean Bills ? คือ ตั๋วที่ไม่มีเอกสารประกอบ มักใช้กับการชำระเงินค่าสินค้าในระยะยาว อาจเป็น 3, 5 ปี โดยชำระเป็นงวดๆ

3.2 Documentary Bills ? เป็นตั๋วที่มีเอกสารประกอบ ส่วนมากมักเป็นเอกสารในการส่งสินค้าที่เรียกว่า Shipping Documents Documentary Bills มีอยู่ 2 แบบ คือ

3.2.1 Documents Against Payment Bill : (ตั๋ว D/P) ? เป็นตั๋วที่ผู้ส่งสินค้า (Exporter) จะต้องจ่ายเงินให้ธนาคารก่อน แล้วจึงจะรับเอกสารไปออกของได้

3.2.2 Documents Against Acceptance Bill : (ตั๋ว D/A) ? เป็นตั๋วที่ผู้สั่งสินค้า (Importer) จะต้องรับรองตั๋ว (Bill of Exchange หรือ Draft) ก่อน แล้วจึงรับเอกสารไปแล้ว และจะชำระเงินภายหลังเมื่อถึงระยะเวลาที่ระบุไว้ใน Draft

ชนิดของตั๋วแลกเงิน : แบ่งตามระยะเวลาในการชำระเงิน คือ

1. Sight Draft (Demand Draft) ? เป็นตั๋วเงินที่จ่ายเมื่อทวงถาม (On Demand) คือ ระบุให้จ่ายเงินเมื่อเห็น (At Sight) โดยเมื่อธนาคารผู้เปิดเครดิต (Issuing Bank) ได้รับ Draft จะเรียกให้ผู้ซื้อ (Importer) จ่ายเงิน และส่งเงินนั้นไปให้แก่ Negotiating Bank ทันที

2. Time Draft (Usance Draft) ? เป็นตั๋วที่จ่ายเงินตามระยะเวลาในวันข้างหน้าตามที่กำหนดไว้ (Deferred Payment) เช่น 15, 30 หรือ 60 วัน โดย Time Draft นี้ จะเป็นการกำหนดระยะเวลาต่างๆ กัน คือ

2.1 Fixed Date ? ให้จ่ายในวันใดวันหนึ่งที่กำหนด ซึ่งจะระบุวันที่ถึงกำหนดได้เลย

2.2 Days After Date ? ให้จ่ายเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ นับแต่วันที่ออก Draft เช่น 30 Days after Date of Draft

2.3 Day after Sight ? ให้จ่ายเงิน เมื่อสิ้นเวลาที่กำหนดไว้นับตั้งแต่ได้เห็น (หมายถึง ตั้งแต่วันที่รับรองตั๋ว)

Invoice : บัญชีราคาสินค้าหรือใบกำกับราคาสินค้า ? เป็นเอกสารที่ผู้ส่งสินค้า (Exporter) จัดขึ้น เพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เช่น รายการจำนวนสินค้า, น้ำหนัก ราคาต่อหน่วย ราคารวม ประเภทของราคา ที่จะทำการซื้อขายกัน เครื่องหมายหีบห่อ ชื่อเรือที่ทำการขนส่ง ชื่อผู้ซื้อ เป็นต้น แต่ละบริษัทผู้ขายสินค้า (Exporter) จะมี Form ในการออก Invoice ของตนเอง และส่งไปพร้อมกับสินค้า พร้อมทั้งส่งมอบให้ผู้ซื้อ (Importer) เป็นหลักฐานในการตรวจสอบสินค้า

ชนิดของ Invoice มี 2 ชนิด คือ

1. Official Invoice ? เป็น Invoice ที่ใช้ในทางรัฐบาลซึ่งทางการประเทศปลายทางต้องการ โดยแบ่งออกเป็น

1.1 Customs Invoice ? เป็น Invoice ที่ทำขึ้นเพื่อมอบให้ด่านศุลกากรปลายทางใช้ตรวจสินค้า การที่ด่านศุลกากรเรียก Invoice ชนิดนี้ก็เพื่อหาทางป้องกันการตัดราคาตลาด (Dumping) ในบางประเทศ

1.2 Consular Invoice ? เป็น Invoice ที่ต้องนำไปให้กงสุลของประเทศที่จะส่งสินค้าไป ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศผู้ขาย (Export Country) ตรวจตราเสียก่อนที่จะส่งไปตามระเบียบศุลกากรของประเทศผู้ซื้อ (Import Country) ดังนั้น Invoice ที่ออกโดยสถานกงสุลจะต้องได้รับการประทับตราทางราชการ และลงนามโดยถูกต้อง ซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้สถานกงสุลตามระเบียบของสถานกงสุลนั้นๆ

2. Commercial Invoice ? เป็นเอกสารที่ผู้ส่งสินค้า (Exporter) จัดทำขึ้นเพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เช่น รายการจำนวนสินค้า น้ำหนัก ราคาต่อหน่วย ราคารวม ประเภทของราคาที่จะทำการซื้อขายกัน เป็นต้น

Commercial Invoice สามารถจำแนกออกเป็น 5 ชนิด คือ

1. Local Invoice =>ใช้ในกิจการค้าภายในประเทศ

2. Shipping Invoice =>ใช้ในกิจการค้าระหว่างประเทศ

3. Consignment Invoice =>ใช้ในการสั่งสินค้าไปเพื่อฝากขายราคาที่แจ้งจะเป็นราคา C.I.F.

4. Sample Invoice =>ใช้สำหรับส่งสินค้าตัวอย่างไปต่างประเทศ

5. Pro-forma Invoice ? ใช้ในการเสนอราคา และเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

Bill of Lading : ใบตราสารส่งสินค้า ? เป็นเอกสารที่บริษัทผู้ทำการขนส่งสินค้า (Shipping Company) ออกให้แก่ผู้จัดส่ง (Shipper) ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าตนได้รับมอบสินค้าไว้เพื่อทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งตามที่กำหนด

ลักษณะที่สำคัญของ Bill of Lading มี 3 ประการคือ

1. เป็น Receipt ? คือ เป็นใบรับสินค้าที่จะทำการขนส่ง แสดงรายการสินค้าตามสภาพภายนอกของหีบห่อ และจดแจ้งประเภทของสินค้า

2. เป็น Contract ? คือ เป็นสัญญาระหว่างผู้ส่งกับผู้ขนส่งว่าจะดำเนินการขนส่งสินค้าไปยังเมืองปลายทางที่กำหนด และจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้รับตามคำสั่งของผู้ส่ง (to the order of shipper)

3. เป็นตราสารที่แสดงสิทธิของผู้ทรง (Document of Title) ? แสดงว่าผู้ทรง L/C เป็นเจ้าของสินค้าตามรายการที่ทำการขนส่งนั้นๆ และโอนสิทธิต่อๆ กันได้ ดังนั้น B/L จึงเป็นเอกสารที่เปลี่ยนมือได้ (Negotiable)

Air Waybill : ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ ? เป็นใบรับและเป็นสัญญารับขนสินค้าของบริษัทการบิน ออกให้แก่ผู้ส่งออก (Exporter) ซึ่งต่างไปจาก B/L โดย Air Way Bill ไม่ใช่ตราสารแสดงสิทธิของผู้ทรงเอกสาร

Parcel Post Receipt : ใบพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์ ? เป็นใบออกโดยสำนักงานไปรษณีย์ (Post Office) ของประเทศต้นทางส่งสินค้าให้ไว้เป็นหลักฐานว่า จะจัดส่งหีบห่อสินค้าตามที่ระบุไว้ไปให้แก่ผู้รับปลายทางสำนักงานไปรษณีย์ในประเทศผู้รับสินค้า ซึ่ง Parcel Post Receipt มีลักษณะเป็นเพียงใบรับเท่านั้น

 

Rail Waybill : ใบตราส่งทางรถไฟ ? เป็นใบรับออกโดยการรถไฟหรือตัวแทน (Agent) และมีลายเซ็นของผู้ทำการขนส่ง และตัวแทนลงนามประทับตราและวันที่ออก

Insurance Policy : ใบกรมธรรม์ประกันภัย ? เป็นสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งคือ ผู้รับประกันภัยตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลหนึ่ง คือ ผู้เอาประกันซึ่งได้เสียเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัย ในกรณีที่มีภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้ เกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัย

Insurance Certificate : ใบรับรองการประกันภัย ? คือ หลักฐานที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้ประกันภัยในแต่ละครั้งที่มีการขนส่งสินค้า

Certificate of Origin : ใบรับรองต้นกำเนิดสินค้า ? เป็นใบรับรองต้นกำเนิดสินค้า ว่าสินค้านั้นๆ มีกำเนิดในประเทศใด ตามปกติแล้วจะนิยมให้สภาการค้า (Chamber of Commerce) ของประเทศผู้ส่งสินค้าเป็นผู้ออกให้ วัตถุประสงค์ในการใช้เอกสารนี้ ก็โดยเหตุที่บางประเทศเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีสนธิสัญญาในเรื่องภาษีต่อกันต่ำกว่าสินค้าจากประเทศอื่น หรือห้ามสินค้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งเข้าประเทศของตน

Certificate of Inspection : ใบสำคัญแสดงการตรวจสินค้า ? เป็นเอกสารรับรองคุณภาพของสินค้าที่ออกโดยองค์การตรวจของรัฐบาลหรือเอกชนที่เชื่อถือได้ เนื่องจากสินค้าบางชนิดผู้ซื้อ (Importer) ต้องการให้มีการตรวจคุณภาพสินค้าด้วย

Certificate of Analysis : ใบสำคัญแสดงการวิเคราะห์ ? เป็นเอกสารแสดงการวิเคราะห์ว่าสินค้านั้นๆ มีส่วนผสมอะไรบ้าง และมีสัดส่วนอย่าไร ซึ่งผู้ซื้อ (Importer) จะได้ทราบว่า สินค้ามีส่วนผสมตามความตกลง

Health Certificate : ใบสำคัญแสดงความสมบูรณ์ของสินค้า ? เป็นเอกสารที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของสินค้า สินค้าบางชนิดจำเป็นต้องใช้โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ซึ่งต้องการคำรับรองว่า มีความสมบูรณ์ปราศจากโรครบกวน

Beneficiary’s Certificate : ใบรับรองผู้ขาย ? มักจะออกโดยผู้ขาย (ผู้รับประโยชน์) เพื่อรองรับว่าได้ส่งสำเนาเอกสาร (Shipping Documents) 1 ชุด หรือ เอกสารฉบับหนึ่งฉบับใดตามที่ได้ระบุไว้ในเครดิตให้แก่ผู้ซื้อโดยตรง หลังจากสินค้าลงเรือแล้ว

Packing & Weight List : ใบแสดงการบรรจุหีบห่อและใบแสดงรายการน้ำหนักสินค้า ? เป็นรายการในการบรรจุหีบห่อ แสดงถึงการบรรจุของในแต่ละหีบห่อว่าได้บรรจุสินค้าแบบใด จำนวนเท่าใด ในบางครั้งจะแสดงถึงน้ำหนักและขนาดด้วย ถ้าหากไม่แจ้งขนาดและน้ำหนักจะมีเอกสารที่แยกออกไป

Weight Certificate : ใบรับรองแสดงน้ำหนักสินค้า ? เป็นใบรับรองแสดงน้ำหนักสินค้า ซึ่งผู้ซื้อจะทราบว่าสินค้ามีน้ำหนักตามมาตรฐานที่ได้ตกลงซื้อขายกันหรือไม่