บทที่ 3(a) INCOTERMS 1990


INCOTERMS หรือ INTERNATIONAL COMMERCIAL TERMS เป็นข้อตกลงในการส่งมอบทางการค้าระหว่างประเทศที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องนำมาระบุไว้ในสัญญาซื้อขายเพื่อจะได้ทราบถึงหน้าที่ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติให้แก่กัน ฉะนั้น ก่อนที่จะทำการตกลงซื้อขายทุกครั้ง คู่ค้าจึงควรที่จะคำนึงถึงข้อตกลงในการส่งมอบเป็นลำดับแรก โดยพิจารณาจากหลายๆปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย บริการเกี่ยวกับการขนส่ง กฎเกณฑ์ในการสั่งเข้า-ส่งออกของประเทศที่เกี่ยวข้อง การได้เปรียบจากขีดความสามารถและความชำนาญของแต่ละฝ่าย รวมทั้งราคาของสินค้าที่จะเพิ่มหรือลดลงในแต่ละข้อตกลง (TERM)

การนำ INCOTERMS มาใช้นั้นทำให้สามารถทราบได้แน่ชัดว่าฝ่ายใดเป็นผู้รับภาระของค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงต่ออุบัติภัยหรือการสูญหายในระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวสินค้าจากมือผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ซึ่งผู้ขายจะหมดภาระลงก็ต่อเมื่อส่งมอบสินค้าให้ถึง ณ จุดที่ได้กำหนดขึ้นไว้

การแก้ไขปรับปรุง INCOTERMS ในปีคศ. 1990 นั้น ได้จัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายและเป็นการบ่งชี้ถึงภาระหน้าที่ในเรื่องค่าใชจ่าย และ อุบัติภัยจากน้อยไปมากดังนี้.......

กลุ่ม E : เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้า ณ ร้านหรือโรงงานของผู้ขาย (At Seller’s Premises) ซึ่งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการเคลื่อนย้ายสินค้าย่อมจะต้องเป็นภาระของผู้ซื้อทั้งหมด ในกลุ่มนี้มีอยู่เพียง1 ข้อตกลง คือ....

EXW. เรียกเต็มๆว่า EX WORK หรือบางครั้งอาจเรียกว่า EX FACTORY,

EX WAREHOUSE หรือ EX แล้วต่อท้ายด้วยคำที่หมายถึงสถานที่ของผู้ขาย เงื่อนไขนี้เน้นการส่งมอบที่ต้นทาง ซึ่งผู้ขายจะรับภาระน้อยที่สุด เนื่องจากทั้งค่าขนส่งในประเทศผู้ขายและค่าระวางขนส่งระหว่างประเทศ (Main Carriage) จากจุดต้นทาง จะเป็นค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงภัยที่ผู้ซื้อต้องรับภาระ

กลุ่ม F : เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้ไว้ ณ สถานที่ของผู้รับขน (At Carrier’ Premises) หรือลงไว้ในยานพาหนะของผู้รับขน (On Board) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ข้อตกลง ซึ่งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากอุบัติภัยใดๆ ในการเคลื่อนย้ายตัวสินค้าจากจุดที่ผู้ขายส่งมอบ ย่อมจะต้องเป็นของผู้ซื้อทั้งหมด ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย 3 ข้อตกลงคือ.....

FCA. (Free Carrier)

FAS. (Free Alongside Ship)

FOB. (Free On Board)

ในกลุ่มนี้เน้นที่ค่าระวางขนส่งหลัก (Main Carriage) ซึ่งจะต้องเรียกเก็บเอาที่ปลายทางอีกทั้งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงทั้งหมดตกเป็นของผู้ซื้อ

กลุ่ม C : เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้ไว้ ณ สถานที่ของผู้รับขนส่งหรือส่งมอบสินค้าลงในยานพาหนะของผู้รับขนเช่นเดียวกัน แต่ผู้ขายมีภาระต้องชำระค่าระวางขนส่งหลักด้วย ส่วนเรื่องความเสี่ยงในการเคลื่อนย้ายตัวสินค้าจากจุดที่ผู้ขายส่งมอบจะถือว่าเป็นภาระของผู้ซื้อต้องรับผิดชอบเอง ถึงแม้บางข้อตกลงนั้นผู้ขายจะต้องทำประกันภัยไว้ให้ล่วงหน้าก่อน แล้วส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้ซื้อพร้อมเอกสารอื่นๆ ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ซื้อจะต้องไปเรียกร้องค่าสินไหมเอาเองจากตัวแทนซึ่งอยู่ในประเทศของผู้ซื้อนั่นเอง ส่วนบางข้อตกลงที่ผู้ขายไม่ได้มีภาระจัดทำประกันภัยให้นั้น ผู้ซื้ออาจจะจัดทำประกันภัยด้วยตนเอง หรืออาจจะไม่จัดทำก็ได้ ในกลุ่มนี้มีอยู่ 4 ข้อตกลงด้วยกัน คือ......

CFR. (C0st And Freight)

CIF. (Cost, Insurance And Freight)

CPT. (Carriage Paid To)

CIP. (Carriage And Insurance Paid To)

กลุ่มนี้เน้นที่ค่าขนส่งหลัก (Main Carriage) ผู้ขายมีการ Prepaid หรือจ่ายให้แล้วโดยที่ค่าใช้จ่ายนั้นเป็นของผู้ขาย ส่วนความเสี่ยงเป็นของผู้ซื้อ

กลุ่ม D : เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะต้องจัดการส่งมอบและติดตามดูแลผู้รับขนที่ตนเองได้จับจองและจ่ายค่าระวางไว้แล้ว ให้นำส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อจนถึงจุดหรือสถานที่ซึ่งได้ตกลงกันไว้ปลายทาง

กลุ่มนี้จึงเน้นในการดูแลส่งมอบตัวสินค้าจนถึงจุดหมายปลายทาง โดยค่าระวางขนส่ง (Carriage Cost) จะต้องชำระล่วงหน้า (Prepaid) ในกลุ่มนี้มีอยู่ 5 ข้อตกลง คือ.....

DAF. (Delivered At Frontier)

DES. (Delivered Ex Ship)

DEQ. (Delivered Ex Quay - Duty Paid)

DDU. (Delivered Duty Unpaid)

DDP. (Delivered Duty Paid)

ภาระของคู่ค้าใน INCOTERMS นั้น สภาหอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber Of Commerce) ได้บัญญัติไว้ให้แต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติหรือไม่ต้องปฏิบัติ 10 ข้อ เท่าๆกัน แต่เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจจะกล่าวถึงภาระหน้าที่หลักรวมกันไป ดังนี้....

EXW : EX WORKS (ให้ระบุสถานที่ซึ่งผู้ขายมีสินค้าจะส่งมอบต่อท้ายคำนี้ เช่น EXW, Kanchanaburi, Thailand) หมายความว่า ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขายเอง เช่น ที่โรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ขาย ซึ่งผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบในการขนส่งสินค้าขึ้นพาหนะซึ่งผู้ซื้อเป็นผู้จัดหามา ข้อตกลงนี้ผู้ขายมีความรับผิดชอบน้อยมาก จึงเหมาะจะใช้กับธุรกิจส่งออกขนาดกลางและเล็กที่ไม่ชอบติดต่อเรื่องพิธีการส่งออกและการขนส่งใดๆ ส่วนผู้ซื้อจะต้องมีภาระจ่ายค่าสินค้าตามที่สัญญาไว้ ต้องจัดหาพาหนะมารับและขนส่งสินค้ารวมทั้งต้องทำการผ่านพิธีการศุลกากรด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ซื้อสามารถจะจ้างตัวแทนหรือนายหน้ารับขน หรือบริษัทขนส่งในประเทศของผู้ขายเป็นผู้ดำเนินการให้ แล้วเรียกเก็บค่าระวางกับผู้ซื้อ เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งความเสี่ยงจากอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการรับมอบสินค้าแล้ว จะตกเป็นภาระของผู้ซื้อทั้งหมด หากผู้ซื้อไม่ชำนาญพิธีการในประเทศที่ส่งออก ข้อตกลงนี้ไม่สู้จะได้เปรียบผู้ขายมาก เพราะจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ลำบาก อีกทั้งต้องยุ่งกับเรื่องพิธีการนำเข้าและค่าใช้จ่ายในประเทศของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น หากตลาดเปิดโอกาสให้เลือกได้ ก็ควรจะเลี่ยงไปใช้ข้อตกลงอื่นที่สะดวกมากกว่า

FCA : FREE CARRIER (ให้ระบุสถานที่ซึ่งผู้ขายต้องนำสินค้าไปส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของบริษัทรับขนส่ง เช่น FCA, BANGKOK หรือ FCA, EVERGREEN, RAMA IV RD., BANGKOK) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อส่งมอบสินค้าให้อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับขน (CARRIER) รายแรก ณ สถานที่ซึ่งผู้ซื้อระบุไว้ รวมทั้งจะต้องผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออกให้ด้วย

ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้กำหนดจุดที่แน่นอนไว้ ผู้ขายก็จะต้องเลือกนำส่งภายในสถานที่หรือภายในบริเวณที่ CARRIER สามารถมารับสินค้าไปอยู่ในความดูแลของตนได้ ข้อตกลงนี้ผู้ขายอาจมีบทบาทเข้ามาช่วยจัดการจองยานพาหนะ โดยที่ผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้จ่ายและรับภาระในความเสี่ยงต่ออุบัติภัยทั้งหลายเอง

รวมทั้งหากสินค้าใดจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตส่งออกหรือต้องเสียภาษีส่งออกใดๆ ผู้ขายก็จะต้องดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไป โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นของผู้ขายเอง

ส่วนผู้ซื้อจะต้องจัดการจอง และจ่ายค่าระวาง (อาจขอร้องให้ผู้ขายช่วยติดต่อโดยผู้ซื้อรับภาระจ่ายค่าระวาง) ผู้ซื้อยังจะต้องจัดทำและจ่ายค่าประกันภัยสินค้า ถ้าตนเองต้องการ รวมทั้งจัดการผ่านพิธีการและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตนด้วย

ผู้ซื้อต้องแจ้งชื่อของ CARRIER และสถานที่ซึ่ง CARRIER ตั้งอยู่ต่อผู้ขาย ผู้ซื้อต้องจองและจ่ายค่าระวางเมื่อมีการขนส่งสินค้าที่ปลายทางแล้ว การจองระวางนั้นอาจร้องขอผู้ขายหรือตัวแทนใดๆ ในประเทศผู้ขายเป็นคนดำเนินการให้ โดยที่ผู้ซื้อต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและรับภาระเสี่ยงต่ออุบัติภัยเอง หรืออาจจะแบ่งเบาภาระความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบโดยยอมเสียค่าเบี้ยประกันบ้าง

FREE CARRIER นี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการขนส่งแบบใหม่ที่ใช้ตู้ CONTAINER เป็นหลัก ซึ่งสินค้าจะต้องส่งนำไปฝากให้อยู่ในความดูแลของ CARRIER ซึ่งมักจะจัดสถานีหรือลานเก็บ CONTAINER เพื่อบริการรับสินค้าไว้ในความดูแล

ข้อตกลงนี้อาจนำไปใช้กับการขนส่งแบบใดก็ได้ รวมทั้งการขนส่งแบบรวมพาหนะหลายรูปแบบในแต่ละเที่ยว (MULTIMODAL TRANSPORT)

ทุกข้อตกลงที่กล่าวถึงในบทนี้ ผู้ขายต้องเป็นจัดหา COMMERCIAL INVOICE หรือข้อมูลจัดส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผลใช้ได้เทียบเท่า COMMERCIAL INVOICE ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในข้อตกลงอื่นๆ อีกต่อไป

การชำระเงินค่าสินค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อในทุกข้อตกลงอยู่แล้ว ดังนั้นในบทความต่อจากนี้จะไม่ขอกล่าวถึงหน้าที่ในการชำระเงินของผู้ซื้อในข้อตกลงอื่นๆ อีกต่อไป

อนึ่ง คำว่า CARRIER ที่ใช้ใน INCOTERMS นี้ จะหมายถึง บุคคลใดก็ได้ที่สัญญารับขนระบุไว้ให้เป็นผู้ดำเนินการขน โดยไม่เลือกว่าเป็นการขนส่งทางใด หรือแม้แต่กรณีที่ผู้ซื้อสั่งให้ผู้ขายมอบสินค้าให้อยู่ในความดูแลของนายหน้ารับขน (FREIGHT FORWARDER) ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่าไม่ใช่ CARRIER ในความหมายทั่วๆ ไป แต่สำหรับกรณีของ INCOTERMS แล้ว หากผู้ขายได้มอบสินค้าให้อยู่ในความดูแลของบุคคลหรือนายหน้ารับขนรายแรกแล้ว ก็ถือเสมือนมีการปฏิบัติได้ครบถ้วน ตามเงื่อนไขของ FREE CARRIER แล้ว

คำว่า CONTAINER ที่ใช้ใน INCOTERMS นี้ ให้หมายรวมถึงอุปกรณ์ใดๆ ที่นำมาใช้รวบรวม หรือบรรจุหรือบรรทุกสินค้าเข้าไว้กับสิ่งนั้นๆ รวมทั้งอุปกรณ์ล้อเลื่อนเพื่อขนอุปกรณ์หนักเข้า/ออกจากเรือ (ROLL ON – ROLL OFF) ก็ได้

FAS : FREE ALONGSIDE SHIP (ให้ระบุท่าเรือที่ซึ่งผู้ขายต้องนำสินค้าไปส่งมอบไว้ เช่น FAS, BANGKOK PORT) หมายถึงผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อนำสินค้าส่งมอบไว้ที่ข้างเรือเดินทะเล ซึ่งจอดอยู่ ณ ที่ท่าเทียบเรือ หรือผู้ขายอาจจะนำส่งไว้ในเรือเล็ก หรือเรือท้องแบน (LIGHTER) ณ ท่าเรือที่ระบุไว้ รับใบรับมาจากจุดที่เกี่ยวข้อง แล้วนำใบรับนั้นแสดงกับผู้ซื้อ ใบรับนั้นต้องมีข้อความจดแจ้งว่าสินค้าได้ถูกส่งให้ไว้ที่ข้างเรือแล้ว ผู้ซื้อจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากจุดที่ผู้ขายนำสินค้ามาส่งมอบ ผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้ผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออก (อย่าใช้ข้อตกลงนี้ ถ้าผู้ซื้อไม่มีความสามารถเรือพิธีการส่งออก) ผู้ซื้อมีหน้าที่เลือกและกำหนด CARRIER จองและจ่ายค่าระวางเรือ รวมทั้งหากสินค้าต้องมีการขออนุญาตส่งออก ผู้ซื้อยังจะต้องเป็นคนหาใบอนุญาตส่งออกและเป็นคนจ่ายภาษีส่งออกอีกด้วย ผู้ซื้อใดที่ต้องการให้บริษัทประกันแบ่งเบาภาระความเสี่ยงที่ตนเองต้องแบกรับอยู่ก็สามารถติดต่อทาบทามไว้แต่เนิ่นๆ การดำเนินการต่างๆ นี้ผู้ซื้อย่อมสามารถทำการผ่านตัวแทนหรือนายหน้ารับขนหรือบริษัทขนส่งก็ได้ นอกจากนั้น ผู้ซื้อยังจะต้องผ่านพิธีการและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตนอีกด้วย

ข้อตกลงนี้ใช้ได้ทั้งการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ ส่วนการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายนั้นเหมือนกับใน EXW

FOB : FREE ON BOARD (ให้ระบุท่าเรือที่ส่งต่อท้าย เช่น FOB, BANGKOK PORT) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้นำสินค้าไปส่งมอบไว้ในเรือเดินทะเล ณ ท่าเรือที่ระบุไว้ รวมทั้งผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออก หากสินค้าต้องขออนุญาตส่งออกก็ต้องจัดหาใบอนุญาตส่งออก หากมีภาษีส่งออกก็ต้องชำระค่าภาษีนั้นด้วย (ผู้ขายต้องจัดหาใบรับประเภท CLEAN ON BOARD ให้ด้วย เพราะเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อสำหรับข้อตกลง FOB นี้ หรือแม้แต่ข้อตกลง CFR หรือ CIF ก็ตาม)

ส่วนผู้ซื้อจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากจุดที่ผู้ขายนำสินค้ามาส่งมอบไว้ในระวาง ผู้ซื้อต้องเป็นผู้เลือกจองและกำหนด CARRIER เอง ต้องจ่ายค่าระวางเรือเมื่อสินค้าถึงปลายทาง รวมทั้งต้องดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตน ผู้ซื้อสามารถจัดทำประกันภัยในประเทศของตนเองได้ถ้าต้องการทำ เพราะไม่มีเงื่อนไขใดบังคับไว้ว่าต้องกระทำ

ข้อตกลงนี้ใช้กับการขนส่งทางทะเลหรือการขนส่งทางน้ำภายประเทศ แต่การขนส่งสินค้าบางชนิดด้วยอุปกรณ์ขนส่งบางลักษณะ เช่น การขนส่งด้วยพาหนะล้อเลื่อน (ROLL ON/ ROLL OFF : RO-RO) หรือระบบ CONTAINER ซึ่งผู้ขายควรจะหมดภาระลงที่การส่งมอบต่อ CARRIER แล้วให้ CARRIER รับภาระขนลงเรือเอง ก็ควรจะใช้ FCA มากกว่า FOB

CFR : COST AND FREIGHT (ระบุท่าเรือปลายทางต่อท้าย เช่น CFR, NEWYORK PORT) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้นำสินค้าไปส่งมอบไว้ในระวางเรือเดินทะเล ณ ท่าเรือซึ่งระบุไว้ทำการจองหรือจ่ายค่าระวางเพื่อให้นำส่งสินค้าไปยังสถานที่ผู้ซื้อระบุไว้ที่ปลายทางผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออก

ผู้ซื้ออาจจัดทำประกันภัยในช่วงขนส่งหลัก (ถ้าต้องการผลักความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัย) รวมทั้งค่าใช้จ่ายใดๆ อันอาจมีเพิ่มขึ้นหลังจากที่สินค้าได้ถูกส่งเข้าระวางเรือเดินทะเล ณ ท่าเรือต้นทาง ซึ่งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจะถูกโอนจากผู้ขายไปอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ซื้อ นอกจากนั้น ผู้ซื้อยังจะต้องเป็นผู้จัดหาใบอนุญาตนำเข้าด้วยค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงของตนเองอีกด้วย

ข้อตกลงนี้ผู้ขายรายใหญ่สามารถหาประโยชน์จาก CARRIER เพราะสามารถได้รับข้อเสนอที่ดีจากบริษัทขนส่งหลายๆ รายที่ส่งราคาเข้ามาให้เลือกใช้ ผู้ขายจึงสามารถเสนอราคาขายสินค้าของตนให้ต่ำลงได้ ส่วนผู้ซื้อก็จะได้ประโยชน์ด้วยเพราะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เข้าทำสัญญาของระวางเรือเอง ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงกับภาวะผันผวนของค่าระวางเรือซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งผู้ซื้อยังสามารถเลือกทำประกันการขนส่งได้ภายในประเทศของตนอีกด้วย

ข้อตกลงนี้สามารถนำมาใช้ได้ทั้งกับการขนส่งทางทะเลและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ แต่การขนส่งใดที่ผู้ขายไม่สามารถจะนำสินค้าไปลงระวางได้ด้วยตนเอง เช่น การขนส่งอุปกรณ์หนักด้วยพาหนะล้อเลื่อน (ROLL ON / ROLL OFF) หรือ CONTAINER ก็ควรจะใช้แบบ CPT ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภายหลัง

CIF : COST, INSURANCE AND FREIGHT (ระบุท่าเรือปลายทางต่อท้าย เช่น CIF, NEWYORK PORT) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้นำสินค้าไปส่งมอบลงไว้ในระวางเรือเดินทะเล ณ ท่าเรือ ที่ระบุไว้ อีกทั้งจัดการจองและจ่ายค่าระวางเรือในการขนส่งสินค้าไปจนถึงท่าเรือในประเทศ ผู้ซื้อต้องดำเนินการผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออก รวมทั้งต้องจัดทำและจ่ายค่าประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล ส่วนผู้ซื้อมีหน้าผ่านพิธีการและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตนเอง

ผู้ซื้อมีภาระหน้าที่เช่นเดียวกับในแบบ CFR แต่ผู้ขายมีภาระเพิ่มขึ้นในการจัดทำและจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อประกันความเสี่ยงต่อความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่อาจเกิดขึ้นให้กับผู้ซื้อ ซึ่งหากสินค้าเสียหาย ผู้ซื้อต้องจัดการเรียกร้องจากบริษัทประกันเอาเอง โดยถือเป็นความเสี่ยงของผู้ซื้อ เพราะผู้ขายเป็นเพียงคนจัดทำและจ่ายค่าเบี้ยประกันให้เท่านั้น

ข้อตกลงนี้ใช้ได้กับการขนส่งทางทะเลและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ แต่หากสินค้าไม่สามารถที่จะส่งเข้าระวางได้ทันที เช่น RO-RO หรือ CONTAINER ก็ควรที่จะตกลงซื้อขายกันด้วย ข้อตกลง CIP ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปจะเหมาะสมกว่า นอกจากเมื่อผู้ซื้อใช้ข้อตกลงนี้ควระบุเงื่อนไขการคุ้มครองภัยทางทะเลให้แน่นอน เพราหากไม่ระบุไว้ ผู้ขายมีสิทธิ์ที่จะทำการประกันภัยให้ในเงื่อนไขขั้นต่ำสุดเสมอ เช่น มูลค่าที่คุ้มครองเพียง 110% และภัยหลักที่คุ้มครองเป็นประเภท C เป็นต้น

CPT : CARRIAGE PAID TO (ให้ระบุสถานที่ส่งมอบปลายทางต่อท้าย เช่น CPT, NEWYORK PORT) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้นำสินค้าไปส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของ CARRIER รายแรก ณ สถานที่ซึ่งระบุไว้ โดยที่ผู้ขายเป็นผู้ทำการจองและจ่ายค่าระวางเพื่อให้นำส่งสินค้าไปยังสถานที่ปลายทางดังกล่าว ผู้ขายต้องผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออก ส่วนผู้ซื้ออาจจะจัดทำและจ่ายค่าประกันภัยขนส่งสินค้าก้ได้ถ้าต้องการ แต่จะต้องเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตน ความเสี่ยงต่างๆ ในตัวสินค้าและค่าใช้จ่ายที่จะมีเพิ่มขึ้น ถือว่าได้ถูกโอนให้ผู้ซื้อเป็นผู้รับภาระตั้งแต่สินค้าส่งมอบให้ CARRIER รายแรก ผู้ซื้อสามารถจะทำประกันภัยด้วยตนเอง (ถ้าต้องการ) และต้องจัดการเรื่องภาษา และพิธีการนำเข้าต่างๆ เมื่อสินค้าถึงปลายทาง

คำว่า “CARRIER” นั้น คงต้องกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า ให้หมายถึงบุคคล ซึ่งในสัญญาจะระบุให้เป็นผู้รับสินค้าไว้เพื่อดำเนินการจัดส่งไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยทางรถไฟ รถยนต์ เรือเดินทะเล เครื่องบินทางเรือภายในประเทศหรืออาจจะผสมกัน ในวิธีที่กล่าวมาแล้ว หากมี CARRIER ลำดับต่อๆ มาเข้ามารับดำเนินการขนส่งต่อจนถึงปลายทาง ความเสี่ยงที่มีนั้นก็ถือว่าผ่านไปจากผู้ขายไปเป็นของผู้ซื้อนับตั้งแต่สินค้าถูกส่งมอบให้กับ CARRIER คนแรกแล้ว

ข้อตกลงนี้ใช้ได้กับทุกๆ พาหนะ รวมทั้ง MULTIMODAL TRANSPORT อีกทั้งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อตกลง CFR แล้ว จุดส่งมอบของ CFR นั้นยังเป็นรูปแบบเก่า ซึ่งจะต้องส่งมอบสินค้าในระวางเรือ แต่ CPT นี้ต้องการเพียงแต่ให้ผู้ขายนำสินค้าไปส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของ CARRIER คนแรกก็พอแล้ว ซึ่งปกติก็มักจะเป็นสถานที่เก็บสินค้าของ CARRIER นั่นเอง

ข้อตกลงนี้ให้ประโยชน์อย่างมากกับผู้ขาย หากนำไปเปรียบเทียบ CFR เนื่องจากผู้ขายสามารถได้รับชำระเงินก่อนที่จะมีการนำสินค้าไปเข้าระวาง จึงได้เอกสิทธิ์มาก่อนตั้งแต่นำสินค้าไปให้อยู่ในความดูแลของ CARRIER ซึ่งถือว่าได้กระทำครบถ้วนตามเงื่อนไขแล้ว

CIP : CARRIAGE AND INSURANCE PAID TO (ระบุสถานที่ส่งมอบปลายทางต่อท้าย เช่น CIP, NEWYORK) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้นำสินค้าไปส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของ CARRIER รายแรก ณ สถานที่ซึ่งได้ระบุไว้ โดยที่ผู้ขายเป็นผู้ทำการจองและจ่ายค่าระวางเพื่อให้นำส่งสินค้าไปยังสถานที่ปลายทางดังกล่าว ผู้ขายต้องผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีส่งออกรวมทั้งจัดทำและจ่ายค่าประกันภัยขนส่งสินค้า ส่วนผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้ผ่านพิธีการและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตน ผู้ขายจะมีภาระเช่นเดียวกับ CPT แต่มีภาระเพิ่มเติมในการจัดทำ CARGO INSURANCE ให้ผู้ซื้อ โดยเป็นคนจัดทำและจ่ายค่า PREMIUM เพื่อประกันความเสี่ยงของการเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างการขนส่ง ซึ่งหากสินค้าเสียหายในภายหลังก็จะไม่ถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขายแล้ว แต่ผู้ซื้อนั่นเองจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงหรือรับประโยชน์ตามกรมธรรม์นั้นทั้งหมด ผู้ซื้อต้องตระหนักว่าผู้ขายมีสิทธิ์ที่จะทำการคุ้มครองภัยให้ในเงื่อนไขขั้นต่ำสุดเสมอ ดังนั้น จึงควรตกลงเงื่อนไขการคุ้มครองภัยที่ต้องการไว้ให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะทำการตกลงซื้อขายกัน

ข้อตกลงนี้สามารถใช้กับการขนส่งได้ทุกรูปแบบ รวมทั้ง MULTIMODAL TRANSPORT ด้วย

DAF : DELIVERED AT FRONTIER (ระบุสถานที่ชายแดน เช่น DAF, NONGKHAI, THAILAND) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระก็ต่อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ณ สถานที่ซึ่งเป็นชายแดนก่อนที่จะผ่านแดนของผู้ซื้อ ซึ่งจะมีพรมแดนติดต่อกันหรือไม่ติดต่อกันก็ได้ ผู้ขายจะต้องผ่านพิธีการส่งออกให้เรียบร้อย จัดหาเอกสารต่างๆ ให้ผู้ซื้อ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากโรงงานของผู้ขายจนถึงจุดชายแดนก่อนที่จะผ่านด่านศุลกากรในประเทศของผู้ซื้อนั้น ผู้ขายจะต้องเป็นฝ่ายรับภาระตลอด ซึ่งผู้ขายอาจจะจัดทำและจ่ายค่าประกันคุ้มครองความเสียหายจากโรงงานของผู้ขาย จนถึงจุดส่งมอบชายแดนก็ได้

ส่วนผู้ซื้อจะต้องมารับมอบสินค้า ณ จุดชายแดนนั้น โดยรับผิดชอบเรื่องพิธีการศุลกากร เพื่อนำสินค้าเข้าประเทศของตน ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าระวาง และค่าเสี่ยงภัยจากจุดชายแดนที่ส่งมอบไปจนถึงคลังสินค้าของตนเอง

การค้าที่ใช้ข้อตกลงนี้มักเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน แต่ก็ไม่จำกัด เพียงขอให้คู่ค้าระบุชายแดนลงไว้ในสัญญาซื้อขายให้ชัดเจนเท่านั้น เพื่อที่ผู้ขายจะได้ให้บริการนำสินค้าผ่านแดนประเทศอื่นได้ถูกต้อง และข้อตกลงนี้ตั้งใจให้ใช้กับการขนส่งทางรถไฟ ทางรถยนต์ แต่ก็ไม่ห้ามหากคู่ค้าจะนำไปดัดแปลงใช้กับการขนส่งแบบอื่นๆ โดยตัวของข้อตกลงนี้แล้วถือว่าให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นการแบ่งกันรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงเอาจากจุดส่งมอบที่ชายแดน

ข้อตกลงนี้ใช้กับการขนส่งทางทะเลหรือนำไปใช้กับการขนส่งทางน้ำในประเทศ ข้อตกลงที่ขึ้นต้นด้วยอักษะ D ทั้งหมดจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบของทั้งสองฝ่ายนั้นคล้ายกับ CIF หรือ CIP แต่ระหว่างการขนส่งก่อนส่งมอบถึงจุดหมายปลายทางที่ตกลงกันนั้น ผู้ขายจะต้องเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในความเสียหายหรือสูญหายของตัวสินค้า ซึ่งจะชดใช้คืนกลับเป็นตัวสินค้าให้ทันเวลาที่ตกลง

DES : DELIVERED EX SHIP (ระบุท่าเรือปลายทาง เช่น DES, NEWYORK PORT) หมายถึงผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อจองและจ่ายค่าระวางเรือให้ขนสินค้าไปจอดที่จุดซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง โดยผู้ขายไม่ต้องรับภาระขนลงจากเรือ ส่วนค่าเสียเวลาเรือที่ต้องคอย ณ จุดปลายทางนั้น ผู้ขายต้องเป็นผู้รับภาระและเป็นผู้ผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออกจากประเทศของตน นอกจากนี้อาจจะจัดทำและจ่ายค่าประกันภัยขนส่งสินค้าไว้เองก็ได้

ส่วนผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้จัดการเสียค่าธรรมเนียมขนสินค้าออกจากเรือ จัดหาใบอนุญาตนำเข้าผ่านพิธีการและเสียภาษีนำเข้าประเทศของตน

ข้อตกลงนี้ ผู้ซื้อสามารถจัดการเรื่องประกันภัยและจัดหาผู้รับขนส่งจากจุดที่เรือจอดปลายทางไปยังโรงงานของตนเองได้อีกด้วย

DEQ : DELIVERED EX QUAY (DUTY PAID (ระบุท่าปลายทาง เช่น DEQ, NEWYORK PORT) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระก็ต่อเมื่อส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ณ ท่าเรือหรือปลายทางที่ระบุไว้ตามสัญญา โดยผู้ขายต้องเป็นผู้จองและจ่ายค่าระวางเรือ ผู้ขายอาจจะลดความเสี่ยงภัยโดยการทำประกันภัยขนส่งสินค้าได้ถ้าต้องการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเรื่องความเสี่ยงเอาเอง ผู้ขายต้องเป็นผู้ผ่านพิธีการและเสียภาษีส่งออก จ่ายค่านำสินค้าออกจากเรือ ณ ท่าเรือปลายทางที่ระบุไว้ รวมทั้งผ่านพิธีการและเสียภาษีนำเข้าประเทศที่ผู้ซื้อกำหนดไว้อีกด้วย

ส่วนผู้ซื้อต้องรับสินค้าออกจากท่าเรือปลายทาง โดยว่าจ้างพาหนะภายในประเทศของตนขนส่งให้ โดยเสียค่าใช้จ่ายและรับภาระความเสี่ยงด้วยตนเอง เฉพาะช่วงจากจุดส่งมอบที่ท่าเรือปลายทางจนถึงสถานที่ซึ่งใช้เก็บสินค้านั้น ผู้ซื้อไม่ต้องเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร เพื่อนำสินค้าเข้าประเทศปลายทางเพราะผู้ขายดำเนินการไปแล้ว

ข้อตกลงนี้ไม่ควรนำมาใช้หากผู้ขายไม่ถนัดเรื่องพิธีการศุลกากรในประเทศผู้ซื้อ หรือไม่สามารถจัดหาใบอนุญาตนำเข้าประเทศปลายทางได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากคู่ค้าประสงค์ที่จะให้ผู้ซื้อเป็นผู้ผ่านพิธีการนำเข้าประเทศปลายทางเอง จ่ายอากรเอง ก็ให้เปลี่ยนถ้อยคำท้ายข้อตกลงเป็น “DUTY UNPAID” แล้วระบุท่าเรือปลายทางลงไว้

ข้อตกลงนี้สามารถใช้กับการขนส่งทางทะเลหรือทางน้ำภายในประเทศก็ได้

DDU : DELIVERED DUTY UNPAID (ระบุสถานที่ปลายทาง เช่น DDU, NEWYORK) หมายถึง ผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ณ สถานที่ระบุไว้ในสัญญา โดยผู้ขายต้องเป็นผู้จองและจ่ายค่าระวางยานพาหนะนั้น ผู้ขายต้องรับภาระความเสี่ยงภัยในการขนส่งสินค้าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการส่งออกไปยังสถานที่ระบุไว้ ณ ประเทศปลายทาง แต่ผู้ขายไม่ต้องจ่ายทั้งค่าภาษีและอากรเพื่อนำสินค้าเข้าประเทศปลายทางนั้น

ส่วนผู้ซื้อต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวสินค้า นับตั้งแต่สินค้าถูกส่งมอบไว้ยังสถานที่ส่งมอบปลายทาง และต้องดำเนินการผ่านพิธีการนำเข้า จ่ายค่าภาษีอากร และค่าธรรมเนียม เพื่อนำเข้าประเทศรวมทั้งรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหากไม่สามารถนำสินค้าผ่านพิธีการนำเข้าได้ทันเวลา

อย่างไรก็ตาม หากคู่สัญญาต้องการให้ผู้ขายจัดการเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรและรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากการกระทำดังกล่าว ก็ต้องระบุความประสงค์นี้ไว้อย่างชัดแจ้ง รวมทั้งหากต้องการให้ผู้ขายรับภาระค่าใช้จ่ายรายการใดที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า ก็สามารถระบุเพิ่มถ้อยคำที่ต้องรับภาระลงไปได้ เช่น เรื่อง VAT ก็ให้เพิ่มคำว่า VAT ไว้ท้ายข้อตกลง เช่น DELIVERED DUTY UNPAID, VAT PAID (ระบุสถานที่ส่งมอบปลายทาง)

ข้อตกลงนี้สามารถจะใช้ได้กับรูปแบบการขนส่งทุกรูปแบบรวมทั้งMULTIMODAL TRANSPORT ด้วย

DDP : DELIVERED DUTY PAID (ระบุสถานที่ปลายทาง เช่น DDP, NEWYORK) หมายถึงผู้ขายจะหมดภาระต่อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อยังจุดที่ได้ระบุไว้ ณ ประเทศปลายทาง ผู้ขายยังจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายและรับภาระความเสี่ยง รวมทั้งภาษีอากร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการนำสินค้าผ่านพิธีการ ณ ประเทศที่ผู้ซื้อต้องการนำเข้า

ผู้ซื้อก็ต้องมานำสินค้าออกไปจากจุดปลายทาง ณ ประเทศของตนนั้น จัดทำประกันภัยภายในประเทศ (ถ้าต้องการ) จ่ายค่าระวางภายในประเทศเพียงช่วงสั้น หากจุดส่งมอบไม่ใช่สถานที่ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ใช้เก็บสินค้า

ข้อตกลงนี้ได้ประโยชน์กับผู้ซื้อ เพราะไม่ต้องมารับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงภัยในการขน
สินค้าจากประเทศผู้ขายมายังประเทศของตน

ข้อตกลงนี้ผู้ขายมีภาระมากที่สุด เนื่องจากต้องนำส่งสินค้าให้ถึงจุดหมายปลายทาง และยังจะต้องรับภาระความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายจนถึงจุดที่ระบุไว้อีกด้วย ผู้ขายไม่ได้เปรียบนักหากเสนอขายกับประเทศปลายทางที่ต้องมีการจัดหาใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งผู้ขายต้องเป็นฝ่ายไปจัดหาให้

ข้อตกลงนี้ไม่มีการจำกัดว่าจะใช้กับยานพาหนะรูปแบบใด และหากคู่ค้าต้องการให้ผู้ชายเป็นผู้ผ่านพิธีการนำเข้าและเป็นผู้จ่ายค่าอากรแล้วก็ควรนำ DDU มาใช้ และหากผู้ขายไม่ต้องการจะรับภาระเรื่อง VAT ก็ควรระบุไว้ให้ชัดเจนว่า VAT UNPAID ไว้ท้ายข้อตกลง เช่น DELIVERED DUTY PAID, VAT UNPAID เป็นต้น